มาตรการและแนวทางลดปริมาณการใช้น้ำ

|

มาตรการและแนวทางลดปริมาณการใช้น้ำ

เพื่อให้การประหยัดน้ำ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสามารถรับสถานการณ์ภัยแล้งที่มีความรุนแรงในปัจจุบันได้ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม จึงได้ดำเนินการกำหนดและประชาสัมพันธ์มาตรการและแนวทางการลดปริมาณการใช้น้ำ ให้ทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชนนำไปได้

แนวทางการลดปริมาณการใช้น้ำ

มาตรการการตรวจสอบการสูญเสียน้ำจากการรั่วไหลของระบบประปาและอุปกรณ์ภายใน

1. ตรวจสอบท่อประปาภายในหน่วยงาน/ที่อยู่อาศัย เพื่อหาจุดรั่วไหลของน้ำ โดยการปิดก๊อกน้ำทุกตัวภายในหน่วยงาน หลังจากที่ทุกคนกลับบ้านแล้วหรือในเวลาที่มั่นใจว่าไม่มีผู้ใช้น้ำในระยะหนึ่ง จดเลขมาตรวัดน้ำ หากปรากฏว่าเลขมาตรวัดน้ำเคลื่อนที่โดยที่ไม่มีผู้ใดเปิดใช้น้ำ ให้ติดต่อช่างหรือประสานงานการประปาในท้องที่ที่รับผิดชอบ เพื่อตรวจสอบหาจุดรั่วไหล และดำเนินการจัดซ่อมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้มีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

2. ตรวจสอบอุปกรณ์ในการใช้น้ำในการใช้น้ำประปา เช่น ก๊อกน้ำ ชักโครก โดยการตรวจสอบอุปกรณ์การใช้น้ำประปาให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ไม่มีการรั่วซึม หากตรวจสอบพบให้รีบดำเนินการจัดซ่อมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้มีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

3. ปิดวาล์วน้ำหรืออุปกรณ์การใช้น้ำประปาทุกชนิดให้สนิท หลังการใช้ทุกครั้ง แจ้งให้บุคลากรภายในหน่วยงาน/สมาชิกในบ้านทราบและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติ โดยจัดผู้รับผิดชอบตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

มาตรการสร้างความตระหนักรู้และรณรงค์การประหยัดการใช้น้ำ

1. การล้างหน้า ไม่เปิดน้ำไหลตลอดเวลาขณะล้างหน้า เพราะจะสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์นาทีละหลายๆ ลิตร

2. การอาบน้ำ โดยใช้ฝักบัวที่มีรูฝักบัวขนาดเล็ก

3. การแปรงฟัน ใช้แก้วรองน้ำในการบ้วนปากและแปรงฟัน ไม่ปล่อยน้ำไหลจากก๊อก

4. การโกนหนวด ใช้แก้วรองน้ำล้างมีดโกนหนวดใช้กระดาษเช็ดหน้าก่อนใช้น้ำ

5. การใช้ชักโครก เลือกสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ หรือใช้ถุงบรรจุน้ำใส่ในโถน้ำ ไม่ทิ้งเศษอาหาร กระดาษ สารเคมีทุกชนิด ลงในชักโครก เพราะจะสูญเสียน้ำปริมาณมากจากการชักโครกเพื่อไล่สิ่งของดังกล่าวลงท่อ

6. การใช้สบู่เหลว ใช้สบู่เหลวแทนสบู่ก้อนเมื่อต้องการล้างมือ เพราะการใช้สบู่ก้อนล้างมือจะใช้เวลามากกว่าการใช้สบู่เหลว ทำให้สิ้นเปลืองน้ำมากกว่า ควรเลือกชนิดที่ไม่เข้มข้นล้างออกง่าย การล้างมือด้วยสบู่เหลวที่เข้มข้น จะใช้น้ำมากกว่าการล้างมือด้วยสบู่เหลวที่ไม่เข้มข้น

7. การล้างภาชนะถ้วยชาม ใช้กระดาษเช็ดคราบสกปรกออก แล้วล้างในอ่างน้ำล้างจานในภาชนะที่ขังน้ำไว้ จะประหยัดน้ำได้มากกว่าการล้างจานด้วยวิธีที่ปล่อยให้น้ำไหลจากก๊อกนำตลอดเวลา น้ำที่เหลือจากการล้างภาชนะนำกลับไปใช้เพื่อกิจกรรมอื่น เช่น รดน้ำต้นไม้

8. การซักผ้า ควรรวบรวมผ้าให้ได้ปริมาณมากพอสมควรในการซักแต่ละครั้ง ไม่เปิดน้ำทิ้งระหว่างซักผ้า น้ำที่เหลือจากการซักผ้านำกลับไปใช้เพื่อกิจกรรมอื่น เช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างจาน

9. การล้างรถยนต์ ไม่ควรล้างรถบ่อยครั้งจนเกินไป เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองน้ำแล้วยังทำให้เกิดสนิมตัวถังได้ด้วย ไม่ควรใช้สายยางและเปิดน้ำให้ไหลตลอดเวลาขณะล้างรถ ควรรองน้ำใส่ภาชนะแล้วใช้ผ้าจุ่มเช็ดถูทำความสะอาด

10. การรดน้ำต้นไม้ ใช้ Sprinkler หรือฝักบัวรดน้ำต้นไม้แทนการฉีดน้ำด้วยสายยาง จะช่วยประหยัดน้ำได้มากกว่า ควรนำน้ำที่เหลือจากกิจกรรมอื่นมาใช้ เช่น การซักผ้า ไม่ควรรดน้ำต้นไม้ตอนแดดจัด เพราะน้ำจะระเหยหมดไปเปล่าๆ แต่ควรรดน้ำต้นไม้ในตอนเช้าที่อากาศยังเย็นอยู่ ซึ่งการระเหยจะต่ำกว่า ช่วยให้ประหยัดน้ำได้มาก

11. น้ำดื่ม ควรใช้เหยือกน้ำกับแก้วเปล่าในการบริการน้ำดื่ม และให้ผู้ต้องการดื่มรินน้ำดื่มเอง และควรดื่มให้หมดทุกครั้ง ไม่ทิ้งน้ำดื่มที่เหลือในแก้วโดยไม่เกิดประโยชน์อันใด อาจนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ใช้ชำระพื้นผิวหรือใช้ชำระความสะอาดสิ่งต่างๆได้ เป็นต้น

12. นำหลักการ 3 R คือ การลดใช้น้ำ (Reduce) การใช้น้ำ (Reuse) การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) มาปรับใช้ตามความเหมาะสมกับหน่วยงาน